![]() |
ยินดีต้อนรับ ( เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก )
![]() ![]() |
![]() |
![]()
โพสต์
#1
|
|
...ฅนค้น..ใคร... ![]() กลุ่ม : Root Admin โพสต์ : 3,362 เป็นสมาชิกเมื่อ : 18-Sep-06 หมายเลขสมาชิก : 1 ![]() ![]() ![]() |
เปิดอุทยานฯ สัมปทานมรดกของชาติ 2 /วินิจ รังผึ้งโดย : วินิจ รังผึ้ง ![]() ผมเขียนเรื่องเปิดอุทยานสัมปทานมรดกของชาติไปตอนหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ยังมีประเด็นที่อยากจะนำเสนอจึงจะขอนำเสนอต่ออีกสักหน่อย อย่างที่กล่าวมาเมื่อตอนที่แล้วว่า ทางผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีโครงการจะเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทาน บริหารพื้นที่บริการในเชิงธุรกิจครบวงจร เช่นทำที่พัก ร้านอาหาร ร้านค้าของที่ระลึก และบริการท่องเที่ยวต่างๆเป็นการนำร่อง จำนวน 10 อุทยานฯระยะเวลาสัมปทานยาวนานถึง 30 ปีเลยทีเดียว และค่าสัมปทานก็แสนถูกเพียงตารางเมตรละ 30 บาทต่อเดือน นั่นยังมีการต่อรองจากเอกชนกันลงมาเหลือเพียงตารางเมตรละ 3 บาทเท่านั้น โดยใน 10 อุทยานดังกล่าวล้วนเป็นอุทยานแห่งชาติยอดนิยม ที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งนั้น ปีหนึ่งมีนักท่องเที่ยวรวมกันนับล้านคน มีรายได้กว่า 160 ล้านบาทในปี 2550 ที่ผ่านมา จากข้อมูลเบื้องต้นเมื่อพยายามมองในมุมของผู้บริหารกรมอุทยานฯ ที่พยายามผลักดันนโยบายให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานเช่าพื้นที่ระยะยาว โดยให้เหตุผลว่าต้องการจะหารายได้เพื่อนำไปสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจ ในการดูแลรักษาพื้นที่อุทยานฯที่กว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งงบประมาณและกำลังพลในการปฏิบัติงานไม่เพียงพอ ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ฟังดูเบาหวิว เพราะแม้จะเพิ่มค่าเช่าอีกเท่าตัวเป็นตารางเมตรละ 60 บาทต่อเดือนก็จะเป็นรายได้เพียงสักเท่าไหร่ ในขณะที่ผลประโยชน์ของภาคเอกชนจะมากมายมหาศาลเพียงใด หากได้เข้าไปผูกขาดสัมปทานในอุทยานแห่งชาติชั้นนำของเมืองไทย ลองหลับตานึกดูว่าหากเอกชนรายหนึ่งรายใด ได้สัมปทานอุทยานแห่งชาติอย่างหมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะที่สวยงามบริสุทธิ์เป็นแหล่งดำน้ำที่สวยงาม 1 ใน 10 ของโลก ซึ่งกำลังจะมีการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น เอกชนรายดังกล่าวจะได้ผลประโยชน์มหาศาลเพียงใด ในขณะเดียวกันหมู่เกาะอันแสนบริสุทธิ์แห่งนี้จะมีสภาพเช่นใด อาจจะมีเตียงผ้าใบ มีร่มชายหาดไปตั้งเรียงรายให้นักท่องเที่ยวเช่านอนกันเต็มหาดก็เป็นได้ และก็มีกระแสข่าวว่ามีเอกชนบางกลุ่ม ถึงขนาดออกแบบเขียนแปลนก่อสร้างบ้านพักแบบรีสอร์ทสวยหรู บนชายหาดอันขาวบริสุทธิ์ของหมู่เกาะสิมิลัน และบริเวณเกาะตาชัยไว้แล้ว นั่นยังไม่รวมหมู่เกาะสุรินทร์ ที่เตรียมจับจองเตรียมจะเข้ามาทึ้งมรดกของชาติมรดกของประชาชนคนไทยด้วยแล้วเช่นกัน หากจะอ้างกันว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ทางอุทยานแห่งชาติก็มีระเบียบในการเปิดให้เอกชน เข้าไปดำเนินการให้บริการในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกันอยู่แล้ว หรือไม่เช่นนั้นก็มีการแอบแสวงหาประโยชน์ ในลักษณะคล้ายๆกับการรับสัมปทานการจัดบริการในเขตอุทยานฯกันอยู่แล้ว เช่นบริการร้านอาหารบนเกาะ ร้านค้าของที่ระลึกในแต่ละอุทยานฯ ทางกรมอุทยานฯจึงพยายามจะจัดระบบ และยกระดับการบริการให้มีมาตรฐานโดยการเปิดสัมปทาน ให้เอกชนเข้ามารับช่วงบริการอย่างเป็นทางการเสียเลย ซึ่งหากจะอ้างเหตุผลเช่นนั้นก็ต้องถามว่า ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เข้าไปท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาตินั้น เขาเข้าไปเพราะต้องการใช้บริการที่พักที่หรูหราสะดวกสบาย ต้องการไปใช้บริการร้านอาหารดี ๆ หรือต้องการไปสัมผัสบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติอันแสนบริสุทธิ์มากกว่ากัน ในส่วนของมาตรฐานการให้บริการนั้น ความจริงก็น่าเห็นใจทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพราะเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ก็มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาป่ารักษาพื้นที่ มากกว่าความเชี่ยวชาญในภาคบริการทั้งหลาย แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็สามารถจะแก้ปัญหาได้ด้วยการบริหารจัดการ โดยอาจจะจ้างผู้เชี่ยวชาญในการให้บริการมารับหน้าที่ดำเนินการ แต่อย่างไรก็ควรจะต้องดำเนินการโดยอุทยานฯ ไม่ใช่ให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานผูกขาดแสวงหาผลประโยชน์อย่างที่กำลังจะเป็น อย่างไรก็ตามผมอยากจะเสนอแนวคิดในการปรับมาตรฐานการบริการ ของอุทยานแห่งชาติก่อนที่จะยกไปให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานผูกขาดระยะยาว โดยทางกรมอุทยานฯน่าจะลองทำโครงการอุทยานแห่งชาติต้นแบบ หรืออุทยานแห่งชาติตัวอย่างขึ้นมา โดยอาจจะคัดเลือกอุทยานแห่งชาติยอดนิยมสัก 3 แห่งมาเป็นต้นแบบในการพัฒนา โดยเลือกอุทยานแห่งชาติในลักษณะต่างๆ เช่นอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทางทะเลอีกสักแห่ง อาจจะเป็นอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันก็ได้ แล้วลองทุ่มเทสรรพกำลังของนักวิชาการอุทยานฯ รวมทั้งผู้บริหารของกรมฯ ออกแบบอุทยานแห่งชาติในฝันขึ้นมา แล้วทุ่มเทงบประมาณลงไป เพื่อให้มีมาตรฐานทั้งในเรื่องศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่พัก ค่ายพักเยาวชน ลานกางเต็นท์ ร้านอาหารมาตรฐาน ไม่ใช่ร้านขายเหล้าขายเบียร์อย่างที่เป็นอยู่ในบางอุทยานฯ จัดระบบดูแลความปลอดภัยและมาตรการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวยามฉุกเฉิน รวมทั้งบริการกิจกรรมนำเที่ยวในพื้นที่อุทยานฯที่ได้มาตรฐานและเป็นมืออาชีพ เช่นมัคคุเทศก์นำทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ นำทางดูนก ล่องแก่ง จักรยานเสือภูเขา โดยมีบุคลากรที่สามารถสื่อสาร และให้บริการได้ทั้งกับนักท่องเที่ยวคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ตลอดจนทำระบบการสื่อสารการสั่งจองบริการให้สะดวกสบาย ได้จากทั้งในประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เหมือนเช่นอุทยานแห่งชาติระดับสากล เมื่อพัฒนาอุทยานต้นแบบนำร่องได้มาตรฐานเช่นนี้แล้ว จะมีการปรับราคาค่าธรรมเนียม ค่าบริการให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ หรือเป็นรายได้นำไปปรับปรุงมาตรฐานบริการในส่วนอื่นๆของอุทยานฯ ก็คงจะไม่มีใครปฏิเสธ หากโครงการอุทยานแห่งชาติต้นแบบนำร่องนี้ประสบผลสำเร็จ ก็จะสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงอุทยานแห่งชาติอื่นๆ ให้มีมาตรฐานยิ่งๆขึ้นไปอีก ซึ่งก็น่าจะดีกว่าการเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานอุทยานฯยอดนิยมทีเดียว 10 แห่งโดยมีระยะเวลายาวนานถึง 30 ปี ซึ่งหากมีความผิดพลาด มีความล้มเหลวเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ยากจะเยียวยาแก้ไข หรือคนไทยต้องจำกล้ำกลืนผืนทนไปถึง 30 ปี จำเป็นแล้วหรือที่จะต้องนำเอาสมบัติชิ้นเยี่ยมของชาติ สมบัติร่วมกันของประชาชนคนไทยทุกคน ไปสุ่มเสี่ยง ไปเป็นเครื่องทดลอง หากมีทางเลือกขอให้ใช้มาตรการอย่างอื่นเถอะครับ. ![]() ![]() |
|
|
![]() ![]() |
![]() |
ไม่มีภาพประกอบ | IPB Thai v1.236.Fx1: 9th December 2019 - 04:45 |